วิกฤตการเมืองเวเนซุเอลาไม่ได้เพิ่งเกิด เรื่องนี้เป็นมหากาพย์ต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ปี 2000 มีคนลี้ภัยออกนอกประเทศกว่า 4.3 ล้านคน และ 1.4 ล้านคนหนีเข้ามาที่ประเทศโคลอมเบียที่ชายแดนติดต่อกัน เกิดวิกฤตและปัญหาต่างๆ จนทำให้เศรษฐกิจประเทศล้มละลาย เกิดอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก เงินกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมาย เกิดอาชญากรรมมากขึ้น ปัญหาสาธารณูปโภคทำให้ประชาชนไม่สามารถดำรงชีวิตในประเทศนี้ต่อไปได้
เคน นครินทร์ ได้รับเชิญจากหน่วยงาน UNHCR ไปดูวิกฤตผู้ลี้ภัยเวเนเวซุเอลา และกลับมาวิเคราะห์ต้นตอและสาเหตุเพื่อเป็นข้อเตือนใจให้หลายๆ องค์กรนำไปประยุกต์ใช้หรือปรับปรุงได้ทันเวลา ในรายการ The Secret Sauce: Executive Espresso
3 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตในเวเนซุเอลา
1. ไม่กระจายความเสี่ยง
เวเนซุเอลาในยุคก่อนเป็นประเทศที่ร่ำรวยมาก แต่รายได้ประเทศ 95% อยู่ที่มูลค่าการส่งออกน้ำมัน ช่วงประมาณปี 1970 เป็นประเทศที่มี GDP สูงกว่าสเปน กรีซ อิสราเอล และยังเคยเป็นที่พักพิงของชาวโคลอมเบีย ในสมัยนั้นน้ำมันมีมูลค่าสูงมาก และเวเนซุเอลาเป็นผู้นำในการส่งออกน้ำมันระดับโลกตั้งแต่ปี 2001-2013 ราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเทศมีรายได้สูงมาก แต่มีสัญญาณวิกฤตเกิดขึ้น เมื่อสหรัฐอเมริกาจากเคยเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกได้ค้นพบเทคโนโลยีในการขุดน้ำมัน ซึ่งสามารถมีกำลังการผลิตจำนวนมาก ทำให้สหรัฐอเมริกาไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากประเทศอื่นๆ อีกต่อไป และส่งผลให้ราคาน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว นอกจากสหรัฐอเมริกาแล้วยังมีประเทศอื่นๆ ที่มีกำลังการผลิตน้ำมันมากขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างเช่น แคนาดา จากกำลังการผลิต 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2009 กลายเป็น 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2013 ภาพรวมการแข่งขันธุรกิจน้ำมันค่อนข้างสูง และเป็นสัญญาณในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อความอยู่รอด ดูตัวอย่างจาก OPEC ซึ่งเป็นผู้นำการส่งออกน้ำมัน ตอนนี้ธุรกิจหลักของบริษัทมีหลากหลายมากขึ้นที่ไม่ใช่แค่น้ำมัน ทางบริษัทมาเน้นเรื่องการบริการ ธุรกิจสายการบิน และอื่นๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ
2. ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม
รัฐบาลเวเนซุเอลาทำการยึดกิจการจากเอกชนให้รัฐบาลมาบริหารงานแทน หมายถึงรัฐบาลบริหารงานเองโดยไม่มีผู้แข่งขัน หรือเรียกได้ว่าตลาดผูกขาด ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง เนื่องจากไม่มีผู้แข่งขัน ส่งผลให้ไม่มีการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เกิดการพัฒนา
3. ไม่สนับสนุนให้ประชาชนพึ่งพาตัวเอง
อย่างที่หลักปรัชญากล่าวไว้ว่า “ให้เบ็ดดีกว่าให้ปลา” พลังแห่งความยั่งยืน เรื่องของประชานิยม ประชากรในประเทศสามารถใช้พลังงานไฟฟ้าหรือน้ำมันในราคาถูกมากกว่าปกติหลายสิบเท่า ทำให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง นอกจากนั้นยังอุ้มราคาสินค้า ซึ่งก็คือการควบคุมและกำหนดราคาสินค้าให้ถูกกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ประชาชนไม่กระตือรือร้นในการทำอาชีพ ภาคธุรกิจไม่มีกำไร จึงต้องปิดตัวลง และยังไม่สนับสนุนให้ประชาชนทำธุรกิจเกษตร โดยมีการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศแทน ซึ่งเวเนซุเอลาเป็นประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร มีลักษณะคล้ายประเทศไทย โดยสามารถทำการเกษตรได้ดี แต่รัฐบาลไม่สนับสนุนสิ่งนี้ ซึ่งเป็นปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิตของผู้คน และรัฐบาลยังควบคุมอัตราการแลกเปลี่ยนเงินเพื่อป้องกันไม่ให้เงินไหลออกไปนอกประเทศ ทำให้ตลาดค่าเงินเวเนซุเอลาพังเพราะขาดแคลนเงินสกุลต่างชาติ ทำให้ไม่มีการลงทุนจากชาวต่างชาติ ส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรง
นี่เป็นบทเรียนสำคัญที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และนำมาปรับใช้ไม่ว่าจะกับประเทศหรือว่ากับองค์กร อย่างที่ ฟิลิป คอตเลอร์ ได้กล่าวว่า “ผู้นำเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้องค์กรอยู่รอดได้”