กองธนบัตรโบลิวาร์ หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า Venezuelan Bolivar Fuerte (VER) ซึ่งเป็นสกุลเงินของประเทศเวเนซุเอลา วางอยู่บนโต๊ะเป็นตั้งๆ จำนวนหลายปึก เสียงตะโกนภาษาสเปนจากพ่อค้าร่างใหญ่เรียกให้เราเข้าไปดูสินค้าของเขา กะเกณฑ์ด้วยสายตาเงินกองพะเนินนั้นน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 30 ล้านโบลิวาร์
ผู้สื่อข่าว ลงพื้นที่บริเวณชายแดน Paraguachon ในเมือง Maicao ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโคลอมเบียติดกับเวเนซุเอลา ชายแดนนี้มีความพิเศษตรงที่ไม่มีจุดตรวจเอกสารใดๆ ทำให้ชาวเวเนซุเอลาที่ต้องการมาทำงานหรือเริ่มต้นชีวิตใหม่เพื่อหลุดพ้นจากวิกฤตในประเทศตัวเองหลั่งไหลมาเป็นจำนวนมาก
แม้อากาศจะร้อนจัดเกือบทะลุ 40 องศาเซลเซียส แต่ผู้คนจำนวนมากต่างออกมาเดินเต็มถนนจนแทบจะเหยียบเท้ากัน ส่วนใหญ่จะขนของมาค้าขาย โดยสินค้าที่พบเห็นมากที่สุดคือน้ำมัน เนื่องจากเวเนซุเอลาเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันได้มากและราคาถูก เด็กๆ อายุไม่เกิน 5-6 ขวบเดินเท้าเปล่าถือกรวยเติมน้ำมันตะโกนหาลูกค้า นอกเหนือจากนั้นก็จะเป็นรถเข็นขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป
จุดที่ดึงดูดความน่าสนใจมากที่สุดคือจุดแลกเงิน โดยตั้งเป็นโต๊ะง่ายๆ มีเงินปึกใหญ่วางกองเป็นตั้งเสมือนเป็นป้ายร้าน ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ถามว่าเงินทั้งกองนั้นเทียบเป็นมูลค่าประมาณเท่าไร พวกเขาตอบว่า 100 ดอลลาร์ หรือประมาณ 3,000 บาท แต่เงินกองโตซึ่งคาดด้วยสายตาน่าจะประมาณ 30 ล้านโบลิวาร์นี้ พวกเขาบอกว่าเพียงพอสำหรับการกินอยู่ขั้นพื้นฐานในเวเนซุเอลาได้เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น เนื่องจากข้าวของราคาแพงมากจากปัญหาเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation)
ผู้สื่อข่าว THE STANDARD ลองแลกเงิน 1,000 เปโซโคลอมเบีย (ประมาณ 9 บาท) ได้เงินเวเนซุเอลาคืนมาประมาณ 6,500 โบลิวาร์ แต่คาดว่าน่าจะโดนพ่อค้าหลอก เพราะเมื่อกดตัวเลขในเว็บไซต์อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา พบว่าควรจะได้เงินจำนวน 73,826 โบลิวาร์
แล้วเงินจำนวนนี้ซื้ออะไรได้บ้างในเวเนซุเอลา?
Gustavo Pino ศิลปินชาวเวเนซุเอลาผู้ลี้ภัยวัย 48 ปี บอกกับ THE STANDARD ว่า เงินจำนวนนั้น “แม้แต่เศษคุกกี้ 1 ชิ้นก็ยังซื้อไม่ได้” แต่ในโคลอมเบียอาจกินอาหารเช้าราคาถูกได้ 1 มื้อ
ค่าเงินของเวเนซุเอลาไม่มีมูลค่าจนศิลปินหลายคนนำธนบัตรโบลิวาร์มาทำเป็นกระเป๋าถือหรือของตกแต่งบ้านออกวางจำหน่าย
สำนักข่าวต่างประเทศเคยรายงานว่า เงินเดือนขั้นต่ำของชาวเวเนซุเอลาอยู่ที่ประมาณ 5.5 ดอลลาร์ หรือ 165 บาท แทบจะซื้ออะไรเลี้ยงชีพไม่ได้เลย
นักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เคยเตือนว่า อัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาอาจพุ่งแตะระดับ 1,000,000% ในปีนี้
ความล่มสลายทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร สร้างความลำบากให้กับประชาชนในขั้นเลวร้าย
ตั้งแต่ปี 2015 มีชาวเวเนซุเอลาต้องลี้ภัยกว่า 4.3 ล้านคน โดยจำนวน 1.4 ล้านคนหนีเข้ามาในโคลอมเบีย เฉลี่ย 5,000 คนต่อวัน พวกเขาเหล่านี้ขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค ไร้ซึ่งความปลอดภัย ถูกคุกคามทางเพศ ค้ามนุษย์ ลักพาตัว หรือกระทั่งฆ่า
UNHCR ระบุว่า วิกฤตเวเนซุเอลาถือเป็นวิกฤตด้านผู้ลี้ภัยของโลกที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตซีเรีย และรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกา
ความน่าสนใจของวิกฤตครั้งนี้คือ ผู้ลี้ภัยประมาณ 60% เป็นคนทำงานปกติ มีอาชีพการงานเหมือนคนทั่วไป หลายคนเป็นพนักงานบริษัท พนักงานหน่วยงานภาครัฐ หรือกระทั่งเป็นเจ้าของกิจการ แต่ชีวิตกลับพลิกผันกลายเป็นคนตกงานในพริบตา
Gustavo Pino ศิลปินชาวเวเนซุเอลากล่าวกับ THE STANDARD ว่า เขาอยากตั้งรกรากที่โคลอมเบีย สอนศิลปะและขายผลงานเพื่อเก็บเงินพาครอบครัวย้ายตามมาที่นี่ เมื่อถามว่าอยากกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดไหม เขาตอบว่า แม้ว่าเขาจะฝันอยากเห็นเวเนซุเอลากลับมาเป็นเหมือนเดิม แต่ตนไม่อยากกลับไปอีกแล้ว เพราะที่นั่นหาเงินยาก ไม่มีงานให้ทำ และต่อให้หาได้ก็ไม่มีทางเพียงพอกับชีวิต
“ผมไม่ได้พูดเล่น เงินโบลิวาร์มันหมดมูลค่าไปแล้วครับ” Gustavo Pino กล่าว