สะพาน Simon Bolivar International Bridge นี้มีความยาวเพียง 300 เมตร แต่ความหวังที่แฝงอยู่ในดวงตาชาวเวเนซุเอลานั้นทอดยาวไกลราวไม่มีที่สิ้นสุด
สะพานแห่งนี้คือเส้นทางหลักในการลี้ภัยของชาวเวเนซุเอลาเพื่อข้ามมาที่เมือง Villa del Rosario ประเทศโคลอมเบีย เบื้องล่างคือแม่น้ำตาชีรา บนหลังของพวกเขาขนกระเป๋าเสื้อผ้า บนไหล่มีลูกน้อย ในหัวใจแบกความหวังสร้างชีวิตใหม่ ประเมินกันว่ามีชาวเวเนซุเอลาเดินเท้าข้ามสะพานแห่งนี้ประมาณ 25,000 คนต่อวัน เพื่อหนีจากวิกฤตในประเทศบ้านเกิดตัวเอง
บนสะพานผู้สื่อข่าว พบเห็นรั้วที่มีลักษณะแข็งแรง เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอธิบายว่ามันคือรั้วกันกระสุน เนื่องจากเคยเกิดการปะทะขึ้นบริเวณพรมแดนระหว่างกองกำลังติดอาวุธ โดยหากมองลงไปด้านล่างสะพานจะเห็นจุดเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกลักพาตัวหรือค้ามนุษย์อย่างมาก
UNHCR และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามตั้งศูนย์ให้ความช่วยเหลือพื้นฐานกับผู้ลี้ภัย นอกจากนี้ยังได้ติดตั้งตู้คอนเทนเนอร์สำหรับให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับบุคคลที่กำลังเปราะบาง โดยมีคนที่ต้องการความช่วยเหลือเข้ามาใช้ประมาณ 2,000-3,000 คนต่อวัน
นอกเหนือจากผู้ลี้ภัยแล้วก็ยังมีชาวบ้านที่เดินเข้ามาเพื่อซื้อหาอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค หรือของใช้อุปโภคบริโภคที่ไม่สามารถหาได้ในเวเนซุเอลา ได้พูดคุยกับคนเดินถนนหลายคน บางคนอุ้มลูกเดินเท้าจากบ้านตั้งแต่ตี 2 เพื่อฉีดวัคซีน 1 เข็มแล้วกลับบ้าน บางคนเข้ามาเพื่อขายลูกอมยังชีพในวันธรรมดา แล้วขนเงินกลับไปให้ครอบครัวในวันหยุด ทุกคนพูดตรงกันว่าพวกเขาอยู่ในช่วงยากลำบากที่สุดในชีวิต
หากเดินออกจากสะพานมาไม่นาน จะพบพื้นที่ขายของขนาดใหญ่ที่วุ่นวายมาก มีทั้งจุดเรียกรถเข้าเมือง รถเข็นขายอาหารและน้ำดื่ม แผงลอยขายบุหรี่ โทรศัพท์มือถือ หรือของใช้อื่นๆ แต่ที่สะดุดตาและสะกิดหูมากที่สุดคือ คนตะโกนเป็นภาษาสเปนว่า “รับซื้อเส้นผม!”
สอบถามจึงได้คำตอบว่าพวกเขารับซื้อเส้นผมผู้หญิงชาวเวเนซุเอลาไปทำวิก ผู้สื่อข่าวพบผู้หญิงผมยาวคนหนึ่งกำลังถูกตัดผมอยู่ แต่เมื่อจะเข้าไปขอสัมภาษณ์และถ่ายรูปก็โดนโบกมือไล่
ภายหลังจึงทราบว่าผู้หญิงเวเนซุเอลารักสวยรักงามมาก เส้นผมจึงเปรียบเสมือนของมีค่าที่สุดอย่างหนึ่งในชีวิต การที่ต้องยอมสูญเสียเส้นผมเพื่อแลกกับเงินเล็กๆ น้อยๆ ในการประทังชีวิตจึงเป็นสัญลักษณ์ของความยากจนข้นแค้น และพวกเธอไม่อยากให้ใครมาบันทึกภาพความเจ็บปวดนั้น
ความล่มสลายทางเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาสร้างความลำบากให้กับประชาชนในขั้นเลวร้าย ตั้งแต่ปี 2015 มีชาวเวเนซุเอลาต้องลี้ภัยกว่า 4.3 ล้านคน เฉลี่ย 5,000 คนต่อวัน โดยจำนวน 1.4 ล้านคนหนีเข้ามาในโคลอมเบีย พวกเขาเหล่านี้ขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาด ยารักษาโรค ไร้ซึ่งความปลอดภัย ถูกคุกคามทางเพศ ค้ามนุษย์ ลักพาตัว หรือกระทั่งฆ่า
UNHCR ระบุว่า วิกฤตเวเนซุเอลาถือเป็นวิกฤตด้านผู้ลี้ภัยของโลกที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตซีเรีย และรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของลาตินอเมริกา