การทูต เป็นการแสดงถึงการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างกัน ให้มีความสัมพันธ์ทางด้านต่าง ๆ ที่ประเทศนั้น ๆ มีต่ออีกประเทศหนึ่ง โดยจะมีข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษร เช่น การทูต เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐโคลัมเบีย โดยมีท่านทูตไปประจำทั้ง 2 ประเทศ เป็นต้น หากเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ เราสามารถเรียกทูตกลับประเทศไทย หรือเรียกว่า การลดความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ไทยกับโคลอมเบียได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2522 ไทยได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย มีอาณาเขตดูแลโคลอมเบีย แต่กำลังโอนให้สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลิมาดูแลแทน นอกจากนี้ รัฐบาลไทยได้แต่งตั้งให้นาง Cecilia Fernandez de Pallini เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ ณ กรุงโบโกตา คนแรก ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2531
โคลอมเบียเคยเปิดสถานเอกอัครราชทูตในไทยเมื่อปี 2535 แต่ได้ปิดลงตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2542 เนื่องจากเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ และได้แต่งตั้งให้เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกตำแหน่งหนึ่ง อย่างไรก็ดี ฝ่ายโคลอมเบียกำลังทาบทามรัฐบาลไทยเพื่อเปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง
แม้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับโคลอมเบียถือว่ายังมีค่อนข้างน้อยและจำกัด แต่ก็มีความใกล้ชิดกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอเมริกากลาง นาย Camilo Reyes Rodriguez รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศโคลอมเบียได้เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2547 ซึ่งนาย Reyes ได้แสดงความสนใจเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด และการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องโครงการปลูกพืชทดแทนยาเสพติด และโครงการพัฒนาทางเลือกตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ โคลอมเบียได้ให้การสนับสนุนประเทศไทยในเวทีความร่วมมือระหว่างเอเชียตะวันออกและลาตินอเมริกา (Forum for East Asia and Latin American Cooperation – FEALAC) โดย ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมในโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบดังกล่าวของไทย ได้แก่ การประชุมเชิงปฏิบัติการด้านยาเสพติด ระหว่างวันที่ 17-28 มกราคม 2548 และโครงการฝึกอบรมด้าน Poverty Reduction ระหว่างวันที่ 4-29 กรกฎาคม 2548