ผืนป่าแอมะซอนเป็นป่าฝนเขตร้อนที่มีความอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีพื้นที่ราว 5.5 ตร.กม. มีผืนป่าอยู่ใน 9 ประเทศทางตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้ โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่กว่า 60% อยู่ในบราซิล โดยบราซิล เปรู โคลอมเบีย และเวเนซุเอลา ล้วนแล้วแต่มีชื่อรัฐ ชื่อแคว้น หรือชื่อจังหวัดว่า Amazonas ทั้งสิ้น
สถานการณ์ไฟป่าในครั้งนี้รุนแรงกว่าที่เราคิดเป็นอย่างมาก สถาบันวิจัยด้านอวกาศแห่งชาติบราซิล (INPE) เผยข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียม แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่ เดือนมกราคม-สิงหาคม 2019 บราซิลตรวจพบไฟป่าในแอมะซอนกว่า 75,300 จุด ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 85%* เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2018
ส่งผลให้หลายรัฐที่ได้รับผลกระทบต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเนื่องจากเหตุไฟป่า โดยรอไรมา รอนโดเนีย และอาเกร เป็น 3 รัฐ ที่เผชิญสถานการณ์ไฟป่าในแอมะซอนรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมากว่า 2 เท่า คาดว่าทำลายพื้นที่ป่าไปแล้วหลายพันตารางกิโลเมตร
ไม่ใช่แค่ผืนป่าแอมะซอนในบราซิลเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ในปีนี้เวเนซุเอลาก็ตรวจพบไฟป่าในแอมะซอนกว่า 26,500 จุด ตามมาด้วยโบลิเวีย โคลอมเบีย และเปรู นอกจากนี้อีก 4 ประเทศ อย่างกายอานา เอกวาดอร์ ซูรินาเม และเฟรนช์เกียอานา ก็ล้วนแล้วแต่ตรวจพบการเกิดไฟป่าในผืนป่าแอมะซอนทั้งสิ้นในปีนี้
ไฟป่าอาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เช่น เกิดจากฟ้าผ่า เกิดจากการเสียดสีของกิ่งไม้ใบหญ้าแห้ง รวมถึงอาจเกิดจากฝีมือมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการเผาที่ดินเพื่อเตรียมพื้นที่ทำการเกษตรและปศุสัตว์ การตัดไม้ทำลายป่า หรือแม้แต่เกิดจากความประมาท เช่น ก่อกองไฟแล้วลืมดับ ทิ้งก้นบุหรี่ที่ยังติดไฟลงพื้นป่า เป็นต้น
โดยกลุ่มนักอนุรักษ์นิยมในบราซิลระบุว่า วิกฤตไฟป่าในครั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายของ ประธานาธิบดีจาอีร์ โบลโซนาโร ที่เน้นการพัฒนามากกว่าการอนุรักษ์ ในขณะที่ผู้นำรัฐบาลบราซิลเองก็ระบุว่า กลุ่ม NGOs ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นผู้สร้างสถานการณ์ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล หลังถูกลดเงินสนับส