พื้นที่ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏฟาร์ก (FARC) ในประเทศโคลอมเบีย ปัจจุบัน ได้กลายเป็นสวรรค์ของผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่า ที่หวังว่าจะค้นพบพันธุ์พืชและสัตว์สายพันธุ์ใหม่ๆ
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลโคลอมเบีย และกองกำลังติดอาวุธปฏิวัติแห่งโคลอมเบีย หรือ กลุ่มกบฏฟาร์ก (FARC) ได้ลงนามข้อตกลงสันติภาพ ยุติสงครามความขัดแย้งที่ดำเนินมายาวนานกว่า 50 ปี ส่งผลให้ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์สามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่เคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ และไม่สามารถเข้าถึงได้มาก่อนได้ คณะผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าหลายสิบคน พร้อมด้วยชาวพื้นเมือง ได้ออกเดินทางเพื่อค้นหาสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า “โคลอมเบีย ไบโอ อาปาโปริส 2018 (Colombia Bio Apaporis 2018)” เบื้องต้น มีการค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่ๆ แล้วมากกว่า 90 ชนิด ซึ่งเมื่อวานนี้ คณะนักสำรวจก็ได้มอบภาพของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ที่ค้นพบ 3 ชนิด ให้แก่ ประธานาธิบดีฮวน มานูเอล ซานโตส ของโคลอมเบีย โดยสิ่งมีชีวิตพันธุ์ใหม่แต่ละชนิดถูกตั้งชื่อโดยมีคำที่มีความหมายว่า “สันติภาพ” รวมอยู่ด้วย
ประธานาธิบดีซานโตส ระบุว่า การบรรลุข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มฟาร์กได้เปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับการวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศโคลอมเบีย และตนหวังว่าการค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ๆ นี้ จะดึงดูดให้นักวิจัยจากทั่วโลกเดินทางมาศึกษาวิจัยในประเทศโคลอมเบียกันมากขึ้น
ทั้งนี้ โคลอมเบียเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่ามาก เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่างเทือกเขาแอนดีสและป่าแอมะซอน โดยหลายพื้นที่ของประเทศ เช่น อุทยานแห่งชาติ ชิริบิเกเต (Chiribiquete) ก็เคยมีการค้นพบสัตว์และพืชสายพันธุ์ใหม่มาแล้วมากมาย