ชาวโคลอมเบียติดธงแดง “SOS” ขออาหารช่วงล็อกดาวน์โควิด-19
ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในประเทศแถบลาตินอเมริกาเพิ่มสูงขึ้น ประเทศโคลอมเบีย ซึ่งมียอดผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 23,000 ราย และเสียชีวิต 776 ราย ก็ประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนที่ใช้ชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำจำนวนมาก ชาวโคลอมเบียที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจึงส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ ขณะที่นักการเมืองในท้องถิ่นก็ให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
ในเมืองโซอาชา แหล่งชุมชนแออัดขนาดใหญ่ ทางตอนใต้ของเมืองโบโกตา เมืองหลวงของประเทศโคลอมเบีย ครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนจะติดธงสีแดง เสื้อสีแดง หรือข้าวของเครื่องใช้ที่มีสีแดง ไว้ที่ประตู หน้าต่าง หรือระเบียงบ้านของพวกเขา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงความทุกข์ยากและเพื่อขอบริจาคอาหารจากเพื่อนบ้าน
“พวกเขาจะถามว่า ‘อยากได้มะเขือเทศไหม เอาหัวหอมหน่อยไหม หยิบไปเลยนะ’ และถ้าฉันพอมีอาหารเหลือ ฉันก็ทำแบบเดียวกัน” Maria Mendoza แม่ค้าที่ขายนิตยสารและเสื้อผ้ามือสองก่อนการล็อกดาวน์ กล่าว
“การเคลื่อนไหวเศษผ้าสีแดง” ของชาวบ้านในโซอาชา เริ่มขึ้นในเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นความคิดของ Juan Carlos Saldarriaga นายกเทศมนตรี เขาดูแลจัดการเมืองที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน และชนชั้นแรงงาน หลายครอบครัวเป็นกลุ่มคนพลัดถิ่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากสงครามกองโจรที่ยาวนานของโคลอมเบีย ขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคน คือกลุ่มผู้ลี้ภัยจากวิกฤตเศรษฐกิจล่มสลายของประเทศเวเนซูเอลา
ประชาชนในพื้นที่หลายคนทำงานเป็นแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย คนขับรถประจำทาง และคนงานในโรงงาน ขณะที่อีกหลายคนทำงานขายลูกกวาด หรือเช็ดกระจกเพื่อแลกเศษเงินตามแยกไฟแดง จึงไม่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ และมาตรการล็อกดาวน์จากวิกฤตโควิด-ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถหารายได้มาจุนเจือครอบครัวได้ ดังนั้น วิธีการที่จะจูงใจให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาก็คือการบริจาคอาหาร
Saldarriaga นายกเทศมนตรีของเมืองที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ในโคลอมเบีย เริ่มต้นโครงการบริจาคอาหารในเดือนมีนาคม ทำให้ศาลากลางเมืองโซอาชามีอาหารที่สามารถแจกจ่ายให้ประชาชนกว่า 350,000 ครอบครัว แต่พนักงานสามารถนำอาหารไปให้ประชาชนได้เพียงวันละ 6,000 ครอบครัว ด้วยเหตุนี้ นายกเทศมนตรีจึงประกาศให้ครอบครัวที่ต้องการอาหารติดธงหรือวัสดุสีแดงไว้ที่ประตูหรือหน้าต่าง เพื่อเป็นสัญญาณขอรับการช่วยเหลือ
การเคลื่อนไหวเศษผ้าสีแดงได้แพร่กระจายไปยังเมืองโบโกตา เมเดยิน บาร์รังกิยา ฟลอเรนซ์เซีย และเมืองอื่น ๆ ในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงกับในประเทศกัวเตมาลา โดยครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือจะแขวนธงสีขาวไว้หน้าบ้าน