นักวิจัยชาวโคลอมเบีย เสพติดสมาร์ตโฟนเสี่ยงโรคอ้วน

งานวิจัยชิ้นใหม่ระบุว่าการเสพติดสมาร์ตโฟนอาจนำไปสู่การเพิ่มของน้ำหนักตัวอย่างจริงจัง และเพิ่มโอกาสโดนโรคร้ายแรงอื่นๆ จู่โจม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นักวิจัยชาวโคลอมเบียเผยว่าคนวัยหนุ่มสาวที่ใช้สมาร์ตโฟน 5 ชั่วโมงขึ้นไปต่อวันมีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโรคหัวใจเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 43

มิรารี แมนทิลลา-มอร์รอน ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดและหลอดเลือดแห่งมหาวิทยาลัยซิมอน โบลิวาร์ (SBU) ในโคลอมเบียกล่าวว่าการใช้สมาร์ตโฟนในระยะเวลานานเกินไปก่อให้เกิดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และมีเวลาออกกำลังกายน้อยลง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โรคเบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็งชนิดต่างๆ อาการเจ็บปวดของกระดูกและกล้ามเนื้อ

การวิจัยดังกล่าวมาจากการศึกษาพฤติกรรมนักศึกษาจำนวน 1,060 คน แบ่งเป็นหญิง 700 คน และชาย 360 คน อายุ 19 ปีและ 20 ปีตามลำดับ จากคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยซิมอน โบลิวาร์ ตั้งแต่มิถุนายน-ธันวาคม 2018

นักวิจัยพบว่ามีนักศึกษาที่ติดสมาร์ตโฟนมีแนวโน้มเป็น 2 เท่าที่จะดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล อาหารจานด่วน ขนมหวาน และของว่างมากขึ้น รวมทั้งออกกำลังกายน้อยลง

แมนทิลลา-มอร์รอนกล่าวว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนทั่วไปต้องรับรู้และตระหนักว่า แม้เทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือจะดึงดูดใจเพราะพกพาสะดวก เข้าถึงข้อมูลต่างๆ นับไม่ถ้วน และเป็นแหล่งความบันเทิง แต่ทุกคนควรใช้ประโยชน์จากมันในการปรับปรุงนิสัยและพฤติกรรมเพื่อสุขภาพด้วย

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างเทคโนโลยีและโรคอ้วนนั้นเป็นเรื่องที่น่าสำรวจ เนื่องจากในปี 2016 มีประชากรผู้ใหญ่มากกว่า 1.9 พันล้านคนทั่วโลกประสบภาวะน้ำหนักเกิน

แมนทิลลา-มอร์รอนเสริมว่าเราได้สรุปแล้วว่าระยะเวลาที่แต่ละคนใช้โทรศัพท์มือถือนั้นมีส่วนก่อให้เกิดการพัฒนาไปสู่โรคอ้วน