พบซากมาสโตดอนในเหมืองโคลอมเบีย

พบซากมาสโตดอนในเหมืองโคลอมเบีย

พบซากมาสโตดอนในเหมืองโคลอมเบีย

มีความเชื่อมานานว่ามนุษย์ล่ามาสโตดอน จนเป็นต้นเหตุการสูญพันธุ์ของญาติเก่าแก่ของช้างยุคปัจจุบัน แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญไม่ปักใจตามความเชื่อนั้น และคิดว่าการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยจากป่าไปยังแถบทุนดราหรือเขตที่มีฤดูหนาวค่อนข้างยาวนาน อาจมีบทบาทได้ต่อการสูญพันธุ์ของมาสโตดอน

ล่าสุด คนงานเหมืองทอง Quinchia ในจังหวัดริซารัลดา ของโคลอมเบีย ขุดพบซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลมาสโตดอนและงายาวกว่า 1 เมตรที่ยังไม่บุบสลาย คนงานจึงแจ้งให้นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในจังหวัดเปเรราเข้าตรวจสอบ การวิจัยล่าสุดชี้ว่ามาสโตดอนสูญพันธุ์ไป เนื่องจากยอมจำนนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่สูญพันธุ์จากการล่าโดยมนุษย์ยุคแรกๆ และแม้ว่าจะมีการค้นพบฟอสซิลมาสโตดอนในพื้นที่อื่นของโคลอมเบีย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบในริซารัลดา นั่นหมายถึงอาจพบได้อีกในพื้นที่ใกล้เคียง เพราะสัตว์เหล่านี้อาศัยอยู่เป็นฝูง เหมือนกับฝูงช้างที่มักพบเห็นในแอฟริกายุคปัจจุบัน

พบซากมาสโตดอนในเหมืองโคลอมเบีย

นักวิจัยวิเคราะห์ว่านี่คือซากมาสโตดอนอเมริกันในยุคไพลสโตซีน (Pleistocene) เมื่อ 10,000 ปีก่อน และชี้ว่ามาสโตดอนเดินทางไกลจากดินแดนที่เป็นอลาสกาตะวันออกในปัจจุบันไปยังโนวาสโกเทีย และมุ่งลงใต้ไปยังเม็กซิโกตอนกลาง หมายความว่าช่วงอากาศอบอุ่นขึ้น มาสโตดอนจะมุ่งหน้าขึ้นเหนือเพื่อหาพืชพันธุ์ แต่เมื่ออุณหภูมิเย็นลง ธารน้ำแข็งใหญ่เริ่มแผ่ลงมาจากด้านบนของทวีป พวกมันก็จะถอยกลับลงมาทางใต้ กลายเป็นวัฏจักรต่อเนื่องในช่วงเวลาหนาวเย็นที่ผิดปกติของยุคไพลสโตซีน ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลา 2.5 ล้านถึง 11,700 ปีก่อน.